ลพบุรี เมืองแห่งความหลากหลาย และต่อเนื่องทางวัฒนธรรมยาวนานกว่า 3,000 ปี ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงปัจจุบัน  ซึ่งยังคงอุดมไปด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ  หลักฐานที่สำคัญ ได้แก่

        การขุดพบโครงกระดูกมนุษย์พร้อมภาชนะดินเผา  อายุระหว่าง 4,500 - 3,500 ปี ที่แหล่งโบราณคดีบ้านท่าแค
          การขุดพบโครงกระดูกมนุษย์ยุคหินใหม่ อายุระหว่าง 3,500 - 2,700 ปี ที่บ้านโคกเจริญ
          การขุดพบโครงกระดูกมนุษย์ยุคสำริด อายุระหว่าง 2,700 - 2,300 ปี ที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่
          ชุมชนโบราณในสมัยทวารวดี ซึ่งมีความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมประมาณ 1,000 ปี  เช่น เมืองโบราณซับจำปา อยู่ในเขต อ.ท่าหลวง เมืองโบราณดงมะรุม อยู่ใน อ.โคกสำโรง  เมืองใหม่ไพศาลี   ต.โคกเจริญ
          การพบหลักฐานที่เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น เหรียญทำด้วยเงิน มีลายดุนเป็นรูปสัญลักษณ์ต่าง ๆ ตามคตินิยมของอินเดียที่บ้านหลุมข้าว อ.โคกสำโรง แสดงให้เห็นการพัฒนาการของเมืองลพบุรี  ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-14 ว่าพิจารณาจากชุมชนโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มาเป็นศูนย์กลางทางการค้า และเมื่อได้รับอิทธิพลทางศิลปะ และความเชื่อทางศาสนา ของอินเดีย ก็กลายมาเป็นศูนย์กลางทางศาสนา
          ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 15-18 อิทธิพลทางวัฒนธรรมขอมหรือเขมร  ทำให้ศิลปกรรมต่าง ๆ ของลพบุรี  มีรูปร่างคล้ายคลึงกับศิลปะเขมรเป็นอย่างมาก ได้แก่ ปรางค์สามยอด ศาลพระกาฬ  ปรางค์แขก
          ลพบุรียังเป็นศูนย์กลางด้านศิลปวิทยาการ ในสมัยสุโขทัย ตามพงศาวดารกล่าวไว้ว่า  พ่อขุนรามคำแหง ได้เสด็จมาศึกษาเล่าเรียนที่เขาสมอคอน ในปี พ.ศ.1788 และพ่อขุนงำเมือง ราชโอรสแห่งเมืองพะเยา  ได้เสด็จมาศึกษาที่เขาสมอคอนเช่นกันในปี พ.ศ.1797

ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับ ในปี พ.ศ.2209 และเสด็จมาประทับที่ลพบุรีนาน 8-9 เดือน ลพบุรีจึงเปรียบเสมือนราชธานีแห่งที่ 2  รองจากกรุงศรีอยุธยา
          สมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะเมืองลพบุรี ในปี พ.ศ.2406 และสร้างหมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎขึ้นเป็นที่ประทับภายในพระราชวัง ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
          ยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ราว พ.ศ.2480 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้พัฒนาเมืองลพบุรี ให้เป็นศูนย์กลางทางการทหาร และวางผังเมืองใหม่ โดยแยกชุมชนและสถานที่ราชการออกจากเมืองเก่า ทำให้ดูสง่างามกว่าเดิมและได้สร้างสิ่งก่อสร้างศิลปะแบบอาร์ตเดโด ขึ้นหลายแห่ง เช่น ตึกชาโต้ ตึกเอราวัณ โรงภาพยนตร์ ทหารบก เป็นต้น
          ลพบุรีจึงเป็นเมืองเล็ก ๆ เมืองหนึ่ง  ที่อุดมด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ชาติไทยและมีความเป็นอมตะนคร ไม่หายไปจากความทรงจำของทุกยุคทุกสมัยลพบุรี  เป็นดินแดนเก่าแก่ที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์  สมัยประวัติศาสตร์  จนถึงสมัยปัจจุบัน โดยในอดีตราวพุทธศตวรรษที่ 12  ลพบุรีรู้จักกันในชื่อว่า “ละโว้” หรือ “ลวะปุระ” เป็นเมืองที่มีความสำคัญทางฝั่งตะวันออกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา   เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม สามารถติดต่อกับเมืองอื่นๆ ได้ทั้งทางบกและทางน้ำ    ทำให้เมืองลพบุรีกลายเป็นเมืองท่าสำคัญในการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศและยังเป็นเมืองศูนย์กลางทางพุทธศาสนาควบคู่ไปด้วย    โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการที่ได้ติดต่อกับอาณาจักรกัมพูชา   ซึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจที่สำคัญในขณะนั้น  ทำให้รับเอาศิลปวัฒนธรรมของอาณาจักรกัมพูชาเข้ามามากมาย  ส่งผลให้มีการพัฒนาด้านต่าง ๆ       จนทำให้ลพบุรีกลายเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองมากกว่าเมืองอื่น ๆ ที่อยู่ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา  ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ลพบุรีมีฐานะเป็น  “เมืองลูกหลวง”   โดยเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของกรุงศรีอยุธยาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จนถึงสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมืองลพบุรีถูกลดฐานะลงเป็นเมืองจัตวาและซบเซาลงเรื่อย ๆ   จนกระทั่งถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ลพบุรีกลับมามีบทบาทโดดเด่นอีกครั้ง    โดยเป็นเสมือน “ ราชธานีแห่งที่ 2 ”    เนื่องจาก  สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเสด็จมาประทับที่เมืองลพบุรีเพื่อว่าราชการในแต่ละปีถึง 8-9 เดือน     ทำให้ลพบุรีในสมัยนี้มีความเจริญรุ่งเรืองทั้งทางด้านสถาปัตยกรรม  ด้านสาธารณูปโภค  และเป็นเมืองสำคัญในการปกครอง  จนกระทั่งสิ้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ลพบุรีถูกลดความสำคัญลงและถูกทิ้งจนเกือบมีสภาพเป็นเมืองร้าง  ลพบุรีกลับมามีบทบาทอีกครั้งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  โดยพระองค์ทรงให้ความสนใจเมืองลพบุรีมาก    ทรงโปรดฯ ให้มีการบูรณะ ปฏิสังขรณ์พระราชวังซึ่งเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและพระราชทานชื่อว่า “พระนารายณ์ราชนิเวศน์”
             ในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม  เป็นนายกรัฐมนตรี  ได้พัฒนาจังหวัดลพบุรีให้เป็นเมืองศูนย์กลางทางการทหาร และมีการวางผังเมืองใหม่    โดยย้ายศาลากลางจังหวัดจากบริเวณพระนารายณ์ราชนิเวศน์มายังสถานที่ตั้งในปัจจุบัน





Leave a Reply.